ศูนย์การจัดการและบ่มเพาะธุรกิจ (Business Incubation and Management Center)
โครงการศูนย์ การจัดการและบ่มเพาะธุรกิจ จัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมให้นำศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเรา ทุกคนออกมาใช้เชิงสร้างสรรค์ (ตามแนวคิด Diamond Model) รวมถึงการจัดการให้กับธุีรกิจขนาดย่อย โดยมุ่งหวังให้สมาชิก เป็นนักธุรกิจมีศักยภาพ ดุจดั่ง เพชร (Diamonds Are Forever)

วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2554

4กลยุทธ์ ในการเข้าถึงลูกค้า


4กลยุทธ์ ในการเข้าถึงลูกค้า

     กลยุทธ์ในการเข้าถึงลูกค้าที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสร้างความยิ่งใหญ่ และ ธุรกิจอยู่รอดได้ ประกอบไปด้วย 4I ซึ่งตัว I แต่ละตัว นั้นมีบทบาทและหน้าที่สำคัญในการทำให้ผลิตภัณฑ์เข้าถึงลูกค้าได้ดังนี้

     
1. I-inform ผู้ประกอบการสามารถนำเอากลยุทธ์นี้ไปใช้สร้างการรับรู้ให้กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำการตลาดในปัจจุบัน เนื่องจาก ผู้บริโภคมีทางเลือกหลากหลาย ทั้งในเรื่องการรับรู้ข่าวสารและการบริโภคสินค้าและบริการ หากในตลาดนั้นเต็มไปด้วยสื่อและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ดิฉันเชื่อว่าผู้บริโภคจะไม่มีทางรับรู้ได้เลยว่าอะไรดีที่สุด และควรจะตัดสินใจซื้อหรือบริโภคแบรนด์ไหนดีกว่ากัน     การใช้กลยุทธ์นี้ให้ได้ผลผู้ประกอบการจะต้องเข้าไปให้ถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ชัดเจนและตรงกลุ่ม ไม่ว่าจะสร้างการรับรู้ด้วยวิธีใดก็ตาม ขอแนะนำว่าไม่ควรทำในลักษณะเหวี่ยงแหอย่างไร้ทิศทางอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องรู้ว่า ลูกค้าของตนเองเป็นใคร อยู่ที่ไหน และจะมีวิธีที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเหล่านั้นได้อย่างไร

     2. I-invite เป็นกลยุทธ์ในการเชิญชวนลูกค้าให้เข้ามาอุดหนุนและใช้บริการ ซึ่งถือว่าจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการอยู่รอด เมื่อผลิตสินค้าและบริการออกมาแข่งขันในตลาดแล้ว ก็ต้องหากิจกรรมเพื่อเชิญชวนและสร้างแรงจูงใจให้กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย การนั่งรอลูกค้าเพียงอย่างเดียวไม่เหมาะสำหรับการค้าขายในยุคนี้ การวางแผนเพื่อเชิญชวนลูกค้าเข้ามาทำความรู้จักกับสินค้าและบริการนั้นจะต้องลงมือทำอย่างเร่งด่วน เมื่อไม่นานมานี้ดิฉันมีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมการตลาดของผลิตภัณฑ์ภายใต้ แบรนด์ "เถ้าแก่น้อย" โดยการนำผลิตภัณฑ์ออกมาเชิญชวนให้ลูกค้าได้ชิมสาหร่าย ซึ่งกิจกรรมนี้ก็เน้นไปที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพื่อเป็นการหยั่งลึกถึงความรู้สึกของลูกค้าว่าชอบหรือไม่ชอบ ชอบเพราะอะไร และไม่ชอบเพราะอะไร ฯลฯ ข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากลูกค้าจะสามารถนำไปใช้ทำงานได้เป็นอย่างดี      
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ กิจกรรม ดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าของผลิตภัณฑ์ คือตัวผู้ประกอบการได้มีโอกาสมาพบปะลูกค้าของตนเอง ดิฉันคิดว่าต่อจากนี้ไปผู้ประกอบการจะต้องลงมาคลุกคลีกับลูกค้าผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการซื้อโดยไม่ต้องจ้างพรีเซ็นเตอร์แต่อย่างใด การที่ผู้ประกอบการเข้าไปใกล้ชิดลูกค้าเป็นการแสดงความมั่นใจให้กับการบริโภคได้ทางหนึ่ง

     
3. I-invent เป็นกลยุทธ์ในการสร้างความแปลกใหม่ให้กับสินค้าและบริการ จากข้อมูลเกี่ยวกับการวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคที่ดิฉันเคยลงภาคสนามสำรวจความต้องการของลูกค้า พบว่าลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ต้องการความซ้ำซากจำเจ แต่มักตื่นเต้นและพึงพอใจกับสินค้าใหม่รวมทั้งบริการใหม่ๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความสด ความใหม่ให้กับธุรกิจอย่างต่อเนื่อง อย่าทำแต่สิ่งเดิมๆ จนทำให้ลูกค้าเบื่อ เมื่อใดก็ตามที่ลูกค้าคุณมีความรู้สึกดังกล่าว ดิฉันเชื่อว่าจะเป็นโอกาสที่ดีของคู่แข่งที่ขยันสร้างความใหม่ให้กับสินค้าและบริการ

     
4. I-improve เป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาและปรับปรุงให้ผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงกับความต้องการและความพึงพอใจของลูกค้า โดยผู้ประกอบการจะต้องตระหนักถึงเรื่องการพัฒนาเพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีและพึงพอใจมากกว่าเดิม ดิฉันเชื่อว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่มักต้องการสิ่งที่ดีกว่าเสมอ โดยเฉพาะ product ทั้งสินค้าหรือบริการที่เสนอให้กับลูกค้าจะต้องมีการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค

     สิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญก่อนการพัฒนาและปรับปรุงก็คือ การค้นหาข้อมูลจากผู้บริโภคว่าพวกเขาต้องการอะไรเพื่อพัฒนาได้ตรงกับความต้องการ เช่น ลูกค้าต้องการความสะอาด สด รสชาติดี ฯลฯ ก็จะต้องพัฒนาและปรับปรุงให้ผลิตออกมาตรงกับความต้องการดังกล่าว กลยุทธ์นี้นอกจากจะเป็นผลดีด้านการพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์และบริการมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาแล้ว ข้อมูลที่ได้จากลูกค้าแล้วนำมาปรับปรุงจะทำให้สินค้าที่มีความแตกต่าง ซึ่งลูกค้าสามารถสัมผัสความแตกต่างนั้นได้ด้วยตัวเอง


ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ (www.prachachart.net)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น